รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของเดือนธันวาคม ที่เป็นการประกาศครั้งแรกของปี 2021 ถือเป็นเป็นตัวเลขที่สร้างความสับสน และประหลาดใจให้กับนักลงทุนในเวลาเดียวกัน ข้อมูลตัวเลขการจ้างงานฯ จากกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ อเมริการอบนี้เผยว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่ง เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ 450,000 ตำแหน่ง ตัวเลขที่ออกมานี้ไม่ใช่เพียงผิดคาดไปมาก แต่ยังไม่สามารถเอาชนะตัวเลขของเดือนพฤศจิกายนที่ 210,000 ตำแหน่ง และห่างไกลมากๆ เมื่อเทียบกับตัวเลขการจ้างงานของเอกชน (ADP) ที่ 807,000 ตำแหน่ง
ความหมายของตัวเลขที่ออกมานี้สามารถตีความได้ว่าการจ้างงานในภาคการผลิต และที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตในเดือนธันวาคมไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุหลักที่ทำให้การเติบโตในแง่ของการจ้างงานลดลงคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่กลับมาโจมตีสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในช่วงปลายปี 2021
แต่ท่ามกลางข่าวร้าย ก็เหมือนว่ายังจะมีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นอยู่บ้าง เมื่อรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานและอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลงเป็นเดือนที่สิบติดต่อกัน จาก 4.1% ในเดือนพฤศจิกายน ลงมาอยู่ที่ 3.9% ในเดือนธันวาคม ตัวเลขดังกล่าวเรียกได้ว่าเข้าใกล้กับช่วงก่อนการระบาดเข้าไปทุกที อัตราการเติบโตของค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ย ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับรายได้และการจับจ่ายใช้สอย เพิ่มขึ้นจาก 0.3% ในเดือนพฤศจิกายนเป็น 0.6% ในเดือนธันวาคม ถึงตัวเลขรวมรายปีจะต่ำกว่าตัวเลขครั้งก่อน แต่ก็ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์
ความหมายของตัวเลขทั้งสองคืออัตราการว่างงานลดลงและในขณะที่การเติบโตของเงินค่าจ้างก็ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งทั้งตัวเลขของอัตราการว่างงานและค่าจ้างฯ ในตอนนี้ถือว่าตรงตามเป้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ วางเอาไว้ เพิ่มโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้มีมากขึ้น ความสนใจของนักลงทุนในตลาดตอนนี้จึงได้หันไปที่การรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือมาตรวัดเงินเฟ้อ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 มกราคม 2022 เพราะข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจนี้จะช่วยให้ตลาดลงทุนคาดการณ์ไดว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดบัญชีงบดุล รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่า
ถึงแม้ว่าตัวเลขการจ้างงานฯ จะหดตัวลดลง แต่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐยังสามารถวิ่งอยู่ที่ระดับราคา 96 จุด นักวิเคราะห์เชื่อว่าดัชนีดอลลาร์สหรัฐจะวิ่งอยู่ที่ระดับราคานี้ไปจนกว่าจะมีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค และรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกในสัปดาห์นี้ และสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักวิเคราะห์ 90% เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% และความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการเร็วที่สุดคือเดือนมีนาคม หากตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงมาจากการประกาศครั้งก่อน โอกาสที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมก็จะเพิ่มขึ้น และยิ่งทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค ตอนนี้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐวิ่งอยู่ในกรอบราคาระหว่าง 95.5 – 96.9 จุดหากว่ากราฟสามารถหลุด 95.5 จุดลงไป ให้พิจารณาแนวรับถัดไปที่ 95.1 จุด ในทางตรงกันข้าม หากดัชนีฯ สามารถกลับขึ้นไปทดสอบ 96 จุด มีโอกาสที่ราคาจะขึ้นไปทดสอบ 96.7 จุดและ 96.9 จุดได้อีกครั้ง ไม่ว่าดัชนีดอลลาร์จะทะลุแนวต้าน 96.9 ขึ้นไปหรือแนวรับ 95.1 ลงมา ทิศทางการวิ่งของดัชนีดอลลาร์สหรัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น