ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงสัปดาห์สำคัญที่สุดของเดือนธันวาคมอย่างเป็นทางการ เมื่อธนาคารกลางหลักๆ ของโลกจะมีการประกาศตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2021 ยกตัวอย่างเช่นการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในวันศุกร์ ตลาดการเงินโลกให้ความสำคัญกับการประชุมครั้งนี้เพราะพวกเขาต้องการได้ข้อมูลคาดการณ์ภาพรวมการลงทุนในปีหน้า การประชุมที่นักลงทุนจะให่ความสำคัญมากที่สุดคือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จะทราบผลในวันพฤหัสบดี ยิ่งล่าสุด การที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทำสถิติสูงสุดในรอบ 39 ปี ยิ่งทำให้ตลาดคาดหวังว่าเฟดจะต้องมีมาตรการบางอย่างประกาศออกมาเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ที่เป็นไปได้ที่สุดคือการร่นระยะเวลาของการลดวงเงินการซื้อพันธบัตรรัฐบาล (QE) ให้เร็วที่สุด เพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ได้ในในช่วงครึ่งปีแรกของ 2022
ก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มขึ้น นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกและดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐอเมริกาก่อน ข้อมูลทั้งสองจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการบอกใบ้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วแค่ไหน ถึงกระนั้นตอนนี้ดอลลาร์สหรัฐก็ยังสามารถรักษาทรงขาขึ้นเอาไว้ได้ จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ณ ตอนนี้วิ่งอยู่ที่ระดับราคา 96 จุด หากข้อมูลที่ออกมาและนโยบายการเงินจะยังคงแบบผ่อนคลายต่อไป มีโอกาสที่ดัชนีดอลลาร์จะวิ่งขึ้นไปทดสอบ 96.70 และ 97 จุด โดยมีแนวรับอยู่ที่ 95.63 จุดและ 95 จุดตามลำดับ
นอกจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ แล้ว ตลาดลงทุนจะให้ความสนใจกับการประชุมของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ตลาดลงทุนค่อนข้างให้ความสนใจว่าเมื่อไหร่ที่ BoE จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เพราะตอนนี้มีการระบาดใหม่จากโอมิครอนเข้ามา จึงทำให้ข่าวทางสหราชอาณาจักรถูกตีไปทางการเพิ่มมาจตรการคุมเข้มทางสังคมมากกว่า หากเป็นเช่นนั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะต้องชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากการประชุมในสัปดาห์นี้ BoE ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ดังเดิม และไม่เปลี่ยนแปลงการลดขนาดของ QE จะยิ่งทำให้สกุลเงินปอนด์อ่อนค่า จากการวิเคราะห์กราฟรายวัน ตอนนี้กราฟ GBP/USD มีแนวต้านหลักอยู่ที่ 1.33 แต่ถ้าหลุดระดับราคา 1.3160 ลงมาเมื่อไหร่ ให้พิจารณาแนวรับถัดไปที่ 1.30
อีกหนึ่งไฮไลท์การประชุมของธนาคารกลางที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือธนาคารกลางยุโรป ตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะประกาศข่าวดีเกี่ยวกับการจบโครงการเยียวยาโรคระบาด (PEPP) พร้อมทั้งยืดระยะเวลาของโครงการซื้อสินทรัพย์ (APP) ออกไป ตอนนี้ตลาดลงทุนค่อนข้างเป็นกังวลกับภาพรวมทางเศรษฐกิจของยุโรป ความเป็นไปได้ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยถือว่ามีน้อยกว่าธนาคารกลางอื่นๆ เพราะ ECB เคยกล่าวเองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยูโรโซนยังถือว่าเปราะบาง ยิ่งมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มีความเสี่ยงที่จะถูกจำกัดอีกครั้ง