นอกจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่นักลงทุนจะให้ความสนใจในสัปดาห์นี้คือการรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ของสหรัฐอเมริกาจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก่อนหน้านั้นตัวเลข GDP ออกมาอยู่ที่ 2.3% ส่วนตัวเลขคาดการณ์ในครั้งนี้คือ 5.8% ถึงแม้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้น แต่นักลงทุนก็ยังคงเป็นกังวลว่าภัยโรคระบาดและเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เศรษฐกิจของอเมริกาในปีนี้ฟื้นตัวได้ช้าลง
ผลการประชุมครั้งแรกในปี 2022 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ข้อสรุปว่าจะยังคงนโยบายการเงินแบบตึงตัวเอาไว้ดังเดิม ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0-0.25% ไม่เปลี่ยนแปลง ผลการตัดสินใจนี้ทำให้ตลาดข้ามไปรอดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม (เพราะเดือนกุมภาพันธ์ไม่มีการประชุมเฟด) ที่เชื่อกันว่าจะเป็นจุดจบของการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับลดตัวเลขบัญชีงบดุลของธนาคารกลางลงมา
สำหรับเวลาที่แน่นอนในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์หลังการประชุมว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทุกๆ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังจากเดือนมีนาคม ซึ่งเฟดจะให้รายละเอียดที่ชัดเจนในประเด็นนี้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากเฟดตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนทางการเงิน สินทรัพย์อื่นๆ อย่างเช่นตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรจะปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจอเมริกาในภาพรวมต้องชะลอตัว
ความเห็นนักวิเคราะห์ที่มีต่อตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกและตัวเลขการบริโภคส่วนบุคคล
การรายงานตัวเลขดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐอเมริกาก็ควรค่าแก่การพิจารณา ณ ตอนนี้ตัวเลขชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการฯ เพิ่มขึ้นสามสัปดาห์ติดต่อกัน สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมปี 2021 หากนับตั้งแต่ต้นปี 2022 มาจนถึงวันที่ 15 มกราคม ตอนนี้จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการฯ มีทั้งหมด 286,000 คน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 56,000 คนจากตัวเลขก่อนหน้า 230,000 คน นักวิเคราะห์เชื่อว่าตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเลิกจ้างงาน เพราะยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ ทำให้นายจ้างไม่สามารถจ้างลูกจ้างที่เป็นโควิดได้
การเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการฯ สอดคล้องกับตัวเลขยอดค้าปลีกอเมริกาที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตัวเลขค้าปลีกจากเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของอเมริกาลดลง 1.9% มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ไป 0.1% และถือเป็นการหดตัวลดลงมากที่สุดในรอบสิบเดือน สาเหตุหลักก็มาจากเงินเฟ้อและโรคระบาด นักเศรษฐศาสตร์บางคนแสดงความเป็นกังวลว่าเศรษฐกิจของอเมริกากำลังเสียสมดุลที่เคยฟื้นตัวได้เป็นอย่างดีก่อนหน้านี้ แต่ถึงกระนั้นประเด็นนี้ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจเฟดจากความตั้งใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 ได้แล้ว