นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์: ผลกระทบต่อตลาดหุ้นและฟอเร็กซ์
ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2024 ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดการเงินแล้ว ในขณะที่นักลงทุนและเทรดเดอร์กำลังวิเคราะห์ผลกระทบจากการกลับมาของทรัมป์หลังวาระแรกในปี 2016 ชัยชนะครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณถึงการกลับไปใช้แนวทางสนับสนุนธุรกิจที่เน้นการลดกฎระเบียบ การลดภาษี และนโยบายการค้าที่เน้นการปกป้องการค้าของประเทศ
บทความนี้จะพาคุณสำรวจว่า นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์จะส่งผลต่อตลาดการเงินที่สำคัญอย่างไร โดยเฉพาะใน ตลาดฟอเร็กซ์ หุ้นสหรัฐ หุ้นทั่วโลก และแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม
ผลกระทบต่อตลาดฟอเร็กซ์: ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังชัยชนะของทรัมป์ในปี 2024
หนึ่งในปฏิกิริยาแรกของตลาดหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี 2024 คือการที่ดอลลาร์สหรัฐ (USD) แข็งค่าขึ้นอย่างมากในตลาดโลก
การปรับตัวขึ้นนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความคาดหวังต่อนโยบายที่สนับสนุนธุรกิจของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการลดภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบ และมาตรการกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐ
นักลงทุนเชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะช่วยเพิ่มผลกำไรของบริษัท กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพิ่มอุปสงค์ของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้ USD แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เช่น หยวนจีน (CNH), เปโซเม็กซิโก (MXN) และ ยูโร (EUR) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายการบริหารของทรัมป์
USD แข็งค่า
ความคาดหวังต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งภายใต้ทรัมป์ทำให้ USD มีแนวโน้มได้ประโยชน์ นักลงทุนคาดการณ์ว่านโยบายการค้าหรือการลดภาษีของทรัมป์จะช่วยเพิ่มผลกำไรของบริษัทในสหรัฐฯ และเพิ่มอุปสงค์ของดอลลาร์มากยิ่งขึ้น
หากทรัมป์ดำเนินการตามแผนด้วยการเพิ่มภาษีศุลกากร โดยเฉพาะกับจีน ดอลลาร์สหรัฐอาจแข็งค่าขึ้นอีก ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่เทรดเดอร์ฟอเร็กซ์จะสามารถใช้ประโยชน์จาก USD ได้ โดยเฉพาะกับ CNY, MXN, และ EUR
เงินหยวนจีน CNH อ่อนค่า
เงินหยวนจีน (USD/CNH) อ่อนค่าลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น โดยในช่วงการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ก่อนหน้านี้ที่มีการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและการกลับมาของทรัมป์อาจทำให้ความตึงเครียดทางการค้าเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงอาจมีการเพิ่มภาษีเป็น 60% สำหรับสินค้าจีน
ซึ่งนี่อาจเป็นโอกาสให้เทรดเดอร์เทรดคู่เงิน USD/CNH เพื่อลุ้นทำกำไรจากการอ่อนค่าของหยวนเนื่องจากการยกระดับความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
โอกาสในการเทรด: AUD/USD และ USD/CNY
USD/CNH: จากนโยบายการค้าของทรัมป์และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสงครามการค้ากับจีน คู่สกุลเงิน USD/CNH น่าจะเป็นตัวเลือกการเทรดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแข็งค่าของ USD นโยบายการเพิ่มภาษีและมาตรการปกป้องการค้าของทรัมป์อาจสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนจีน (CNH) ในขณะที่เพิ่มอุปสงค์ให้กับ USD เทรดเดอร์ฟอเร็กซ์อาจใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้ด้วยการเทรด USD/CNH
AUD/USD: อีกหนึ่งตัวเลือกคือ AUD/USD เนื่องจากดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) มักเป็นตัวแทนทางอ้อมของเงินหยวนจีน (CNH) เศรษฐกิจออสเตรเลียพึ่งพาการส่งออกไปยังจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น แร่เหล็ก ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงมุมมองเศรษฐกิจของจีนอาจส่งผลกระทบต่อ AUD ได้อย่างมาก หากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนตึงเครียดขึ้น ค่าเงิน AUD มักได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกับ CNY เนื่องจากสกุลเงินทั้งสองได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมการเทรดในวงกว้างและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลก
ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ หากนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ทำให้เกิดความผันผวนระหว่างสหรัฐฯและจีน คู่ AUD/USD ก็อาจมีความผันผวนที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้หากนโยบายการบริหารของทรัมป์โฟกัสไปที่การเพิ่มผลผลิตด้านพลังงานภายในประเทศ ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอาจได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อ AUD/USD มากขึ้นไปอีก
ผลกระทบต่อตลาดหุ้น: นโยบายสนับสนุนธุรกิจของทรัมป์หนุนหุ้นสหรัฐ
หลังจากชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นสหรัฐ ได้ปรับตัวขึ้นจากความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบายสนับสนุนธุรกิจของเขา เซ็กเตอร์ที่สำคัญ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี และการเงิน มีแนวโน้มได้รับประโยชน์อย่างมากจากนโยบายที่มุ่งเน้นการลดกฎระเบียบ การลดภาษี และการสนับสนุนการผลิตพลังงานภายในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดมุมมองเชิงบวกที่มากยิ่งขึ้น
หุ้นสหรัฐพุ่งสูงขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐ เช่น S&P 500 , Dow Jones และ Nasdaq ได้ตอบรับชัยชนะของทรัมป์ในเชิงบวก โดยดัชนีต่าง ๆ ได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ การปรับตัวขึ้นนี้เห็นได้ชัดในเซ็กเตอร์พลังงานและเทคโนโลยีที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายของทรัมป์ หุ้นพลังงาน (โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ) และหุ้นเทคได้เป็นผู้นำในการปรับตัวขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเห็นแนวโน้มในเชิงบวกในอุตสาหกรรมเหล่านี้
เซ็กเตอร์พลังงานปรับตัวขึ้น
การสนับสนุนพลังงานฟอสซิลของทรัมป์ โดยเฉพาะสโลแกนของแคมเปญ “drill, baby, drill” ทำให้บริษัทน้ำมันและก๊าซ เช่น ExxonMobil และ Chevron ปรับตัวขึ้นทันทีหลังการเลือกตั้ง การยกเลิกข้อจำกัดในการผลิตน้ำมันและก๊าซภายในประเทศและการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมได้สร้างสภาวะที่เอื้อต่อบริษัทด้านพลังงาน นอกจากนี้การโฟกัสไปที่ความเป็นอิสระด้านพลังงานและการลดความยุ่งยากด้านกฎระเบียบได้ทำให้หุ้นพลังงานสามารถเติบโต มีผลกำไรที่เพิ่มขึ้น และขยายฐานทรัพยากรภายในประเทศได้
การเติบโตของเซ็กเตอร์เทคโนโลยี
หุ้นของ Tesla พุ่งขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเก็งกำไรว่าบริษัทอาจได้ประโยชน์จากการกลับมาของทรัมป์ โดยมีความคาดหวังว่าจะมีการแข่งขันที่ลดลงจากผู้ผลิตรถยนต์ EV รายเล็ก และมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าจากจีน ซึ่งอาจช่วยให้ Tesla ได้เปรียบ นโยบายสนับสนุนธุรกิจของทรัมป์ เช่น การลดกฎระเบียบและการลดภาษี ยังถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและสนับสนุนการลงทุนเพิ่มในการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Tesla อาจได้รับผลดีจากกฎระเบียบที่ผ่อนคลายลงเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน
การปรับตัวขึ้นของเซ็กเตอร์การเงิน
หุ้นของ JPMorgan Chase, Goldman Sachs และ Bank of America มีการปรับตัวขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับดัชนีในภาพรวมที่ครอบคลุมหุ้นของธนาคารยักษ์ใหญ่ หลังจากชัยชนะของทรัมป์ ธนาคารระดับภูมิภาคก็มีการปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากนักลงทุนได้คาดการณ์ถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเซ็กเตอร์การเงินมากยิ่งขึ้น จุดยืนการลดกฎระเบียบของทรัมป์ถูกมองว่าเป็นแรงสนับสนุนสำคัญสำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้นและเพิ่มการปล่อยสินเชื่อได้ นอกจากนี้ การคาดหวังเกี่ยวกับการลดภาษียังช่วยสนับสนุนมุมมองการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้น ทำให้ธนาคารเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผลกระทบต่อดัชนี: ดัชนีสหรัฐปรับตัวขึ้นมากกว่าดัชนีทั่วโลก
ในขณะที่หุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบสนองต่อชัยชนะของทรัมป์ ตลาดการเงินทั่วโลกกลับเผชิญกับความท้าทาย นโยบายการค้าของทรัมป์ โดยเฉพาะจุดยืนในเรื่องการค้าและภาษี อาจส่งผลกระทบต่อตลาดนอกสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป จีน และญี่ปุ่น
ดัชนีสหรัฐเทียบกับดัชนีทั่วโลก
ในขณะที่ทรัมป์เดินหน้านโยบาย “America First” หุ้นสหรัฐถูกคาดว่าจะมีผลงานที่ดีกว่าดัชนีทั่วโลกในระยะสั้นถึงระยะกลาง โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังเกี่ยวกับการลดภาษี การลดกฎระเบียบ และการใช้งบประมาณไปกับโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ตลาดในยุโรปและเอเชีย ซึ่งอาจมีความเปราะบางต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หรือภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น อาจมีผลงานที่ด้อยกว่า ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ หรือห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก อาจต้องเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัว ทำให้นักลงทุนหันไปหาความปลอดภัยในสินทรัพย์สหรัฐ สิ่งนี้อาจยิ่งกระตุ้นอุปสงค์ของหุ้นสหรัฐและสกุลเงินดอลลาร์ ในขณะที่นโยบายของทรัมป์ได้สร้างปฏิกิริยาที่หลากหลายในระดับโลก
ความตึงเครียดของสงครามทางการค้าภายใต้ทรัมป์
ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในตลาดโลกคือโอกาสที่สงครามการค้าจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน นโยบายการค้าที่แข็งกร้าวของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าที่ครอบคลุมสินค้าในต่างประเทศ อาจยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับทั้งจีนและสหภาพยุโรป ข้อเสนอของเขาในการจัดเก็บภาษีนำเข้า 10% ถึง 20% สำหรับสินค้าทุกชนิด รวมถึงสินค้าเป้าหมายอย่างเช่นรถยนต์ อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
หากทรัมป์ดำเนินมาตรการภาษี 60% สำหรับสินค้าจากจีน มันอาจนำไปสู่การตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีจากจีน ซึ่งจะสร้างความผันผวนในตลาดทั่วโลก สถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดเกิดใหม่ เช่น เม็กซิโก เกาหลีใต้ และบราซิล ซึ่งพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ และจีน สหภาพยุโรปก็มีความเปราะบางต่อภาษีของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน และอาจดึง EU เข้าสู่ความขัดแย้งทางการค้าที่กว้างขึ้น
ในช่วงหลัง Brexit สหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากในการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ EU และความเสี่ยงที่จะถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งนี้ การดำเนินนโยบายปกป้องเศรษฐกิจอาจทำให้ตลาดโลกไม่มั่นคง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจขนาดเล็ก และสร้างความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก
โอกาสและความเสี่ยงในการเทรดสำหรับนักลงทุน
แม้มุมมองระยะสั้นต่อหุ้นสหรัฐและค่าเงินดอลลาร์จะเป็นบวก แต่ความเสี่ยงในระยะยาวยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในด้านเงินเฟ้อ หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางการค้าทั่วโลก นโยบายสนับสนุนธุรกิจของทรัมป์อาจเป็นแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ผลกระทบในระยะยาวของสงครามการค้าและนโยบายการคลังของเขายังมีความไม่แน่นอน
การลดกฎระเบียบของทรัมป์
การผลักดันให้มีการลดกฎระเบียบในเซ็กเตอร์สำคัญอย่างพลังงาน การเงิน และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องของทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมโอกาสในการเติบโตและการสร้างนวัตกรรม ด้วยการลดอุปสรรคของระบบราชการและเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานให้กับธุรกิจ การลดกฎระเบียบสามารถช่วยลดต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมาย เพิ่มประสิทธิผล และกระตุ้นการลงทุน บริษัทในเซ็กเตอร์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันและก๊าซ บริการทางการเงิน และเทคโนโลยี อาจมีพัฒนาการของความสามารถในการทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจช่วยทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจนี้ยังอาจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่มองหาประเทศที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนในระยะยาวของผลประโยชน์เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับว่าการลดกฎระเบียบจะนำไปสู่ผลกระทบด้านลบที่ไม่คาดคิดหรือไม่ เช่น ความเสี่ยงในด้านสิ่งแวดล้อมหรือระบบการเงิน
ความเสี่ยงด้านหนี้และเงินเฟ้อ
หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ยังคงเป็นความกังวลภายใต้การบริหารของทรัมป์ ข้อเสนอการลดภาษีและการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอาจทำให้การขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยได้ นอกจากนี้ การขยายตัวทางการคลังและการเพิ่มแนวทางปกป้องเศรษฐกิจ เช่น การเก็บภาษีนำเข้าจากจีนและคู่ค้ารายอื่น อาจทำให้ต้นทุนสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น สิ่งนี้อาจลดกำลังซื้อและส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังอาจผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจชะลอโมเมนตัมของตลาดหุ้นและเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมได้
บทสรุป: มุมมองเชิงบวกท่ามกลางความไม่แน่นอน
ชัยชนะในการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ในปี 2024 ได้นำไปสู่การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐ และการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังเกี่ยวกับการลดภาษี การลดกฎระเบียบ และนโยบายสนับสนุนธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการโฟกัสไปที่ความเป็นอิสระด้านพลังงาน เซ็กเตอร์สำคัญ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี และการเงิน ถูกคาดว่าจะมีการเติบโตในระยะสั้น ในขณะที่ตลาดโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสงครามการค้า ภาษี และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
แม้จะมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดสหรัฐ ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวยังคงมีอยู่ นักลงทุนควรรักษามุมมองเชิงบวกไว้ แต่ควรดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยสร้างสมดุลระหว่างโอกาสในตลาดระยะสั้นกับความเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวนและความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโดยรวม