ในวันพุธ ธนาคารกลางแห่งแคนาดา (BoC) จะประกาศการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในเวลา 23:00 น. ในการประชุมครั้งนี้ ตลาดลงทุนคาดว่าความเป็นไปได้ 70%-75% BoC ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุดเบสิส อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่า BoC จะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นักวิเคราะห์มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนั้นแสดงถึงความเชื่อมั่น และมีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนของการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ ดังนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่จึงกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแคนาดาในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของวัฐจักรเศรษฐกิจใหม่เลยหรือไม่?
BoC ส่งสัญญาณทำนโยบายการเงินตึงตัวออกมาแล้วหลายครั้ง
แม้ว่าตลาดลงทุนจะทำใจสำหรับการทำนโยบายการเงินให้มีความตึงตัว (hawkish) มากขึ้น จาก BoC เอาไว้บ้างแล้ว แต่ข้อมูลที่ได้รับก็ยังคงสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุน ในช่วงการระบาดใหญ่ ธนาคารกลางแคนาดาได้อัดฉีดเงินหลายแสนล้านดอลลาร์แคนาดาเข้าสู่ระบบการเงิน ผ่านโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นอกจากนี้ยังเพิ่มการถือครองพันธบัตรอีกประมาณ 350 พันล้านดอลลาร์แคนาดา
อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม ปี 2021 ธนาคารกลางแคนาดาได้ยกเลิกนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างกะทันหัน BoC ประกาศยุติ QE ก่อนกำหนดโดยไม่มีใครคาดคิด ทำให้แคนาดาเป็นเศรษฐกิจ G7 แห่งแรกที่ยุติ QE ก่อนประเทศเศรษฐกิจอื่นๆ
ประธานธนาคารกลางแคนาดานายทิฟฟ์ แมคเลม ประกาศว่า BoC จะหยุดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลแคนาดา ซึ่งเป็นการสิ้นสุดโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หลังจากนั้น ธนาคารกลางแห่งประเทศแคนาดากล่าวว่าหลังจากสิ้นสุด QE แล้ว BoC จะเข้าสู่ขั้นตอนการวางนโยบายการเงินใหม่ ก็คือ BoC จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลแคนาดาในจำนวนเท่ากัน เพื่อทดแทนพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอน นั้นจึงเท่ากับว่า BoC สามารถรักษาการถือครองสินทร้พย์โดยรวมเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม BoC กลับล้มเหลวในการเป็นประเทศ G7 ประเทศแรกที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย พวกเขาแค่เพิ่มความคาดหวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2022 เท่านั้น เพราะมีนักลงทุนหลายคนคาดว่าธนาคารกลางแคนาดาจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่สอง BoC ได้เลื่อนคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเป็นเดือนมีนาคมจากเดือนเมษายน ธนาคารสโกเทียแบงก์ให้ความเห็นว่าธนาคารกลางแคนาดาอาจจะไม่รอนานขนาดนั้น
ทำไม BoC ถึงต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วนัก?
อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐบาลด้วยเงินมหาศาล การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดจากแคนาดาแสดงให้เห็นว่าเหตุใดมาตรการการเงินที่เข้มงวดจึงมีความจำเป็นในแคนาดา
ตามข้อมูลทางสถิติล่าสุดของแคนาดา ดัชนีราคาผู้บริโภคของแคนาดา (CPI) ในเดือนธันวาคมปี 2021 เร่งตัวขึ้นเล็กน้อย 4.8% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 1991 และถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 19 เดือนติดต่อกัน ด้วยเหตุนี้ อัตราเงินเฟ้อของประเทศจึงอยู่เหนือระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางแคนาดาที่ประมาณ 2% เป็นเวลา 9 เดือนติดต่อกัน ทำให้เกิดแรงกดดันให้ธนาคารกลางแคนาดาต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ต่อต้นทุนค่าขนส่ง ที่อยู่อาศัย และราคาต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารและสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของชาวแคนาดาเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011 นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้น 4.7% เช่นเดียวกับราคาการบริการที่เพิ่มขึ้น 2.3% และราคาน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้น 31.2% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1981
ในแง่ของอัตราการจ้างงาน ข้อมูลสถิติของแคนาดาแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานของประเทศแคนาดาในเดือนธันวาคม 2021 มีตัวเลขอยู่ที่ 5.9% ซึ่งต่ำกว่า 6% ของเดือนพฤศจิกายนเล็กน้อย ในเดือนธันวาคม จำนวนคนว่างงานทั้งหมดมีตัวเลขอยู่ที่ 1.21 ล้านคน ใกล้เคียงกับเดือนพฤศจิกายน แต่นั่นก็เพิ่มขึ้นจาก 1.15 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 หรือตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด ข้อมูลทั้งหมดนี้หมายความว่าตลาดแรงงานของแคนาดากำลังกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด เกิดเป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อสกุลเงินดอลลาร์แคนาดาอย่างไร?
เมื่อเศรษฐกิจของแคนาดาบรรลุเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งในแง่ของการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นตลาดลงทุนจึงคาดหวังว่าธนาคารกลางแคนาดาจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ดังนั้น หากการประชุมนโยบายการเงินครั้งนี้มีมติว่าแคนาดาจะเริ่มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะกลายเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์แคนาดา
นอกจากนี้ ดอลลาร์แคนาดายังเป็นสกุลเงินที่มีการอ้างอิงมูลค่ากับราคาน้ำมัน และด้วยปัญหาการขาดแคลนอุปทานน้ำมัน จึงทำให้ราคาน้ำมันต่างประเทศในปีนี้จึงปรับตัวเพิ่มขึ้น จนถึงตอนนี้ราคาน้ำมันก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วมากถึง 34% เกือบจะแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์แคนาดาแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเงินดอลลาร์แคนาดาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 จะยังคงอยู่ภายใต้แนวโน้มขาลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ก่อนหน้านี้เงินดอลลาร์แคนาดาร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งปี ปัจจุบันโควิดยังคงแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศ ดังนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจตัดสินใจที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้
ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจะส่งแรงกดดันทางอ้อมต่อสกุลเงินดอลลาร์แคนาดา แต่ในระยะยาว เงินดอลลาร์แคนาดาก็จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและนโยบายการเงินแบบตึงตัวของ BoC ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์แคนาดาที่อ่อนค่าสามารถกลับมาแข็งค่าได้อีกครั้งนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2021 อย่างไรก็ตาม ตลาดจะให้ความสำคัญนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ มากกว่าเพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และกดดันดอลลาร์แคนาดาให้อ่อนค่าลง