สถานการณ์ในรัสเซียและยูเครนได้ก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งได้รับผลกระทบเชิงลบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สหรัฐฯ รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ออกมาที่ 7.9% YoY ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น 6.4% ส่งผลให้ดัชนี CPI รายเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่ง
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐประกาศตัวเลข CPI ของเดือนมกราคมว่าเพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2021 นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1982 ตัวเลขดังกล่าวสร้างความตกใจให้กับนักลงทุนในตลาด เพราะตัวเลขที่ออกมานั้นเกินกว่าตัวเลขคาดการณ์ 7.2%-7.3% ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ เพราะนักลงทุนเชื่อว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกต่อไป และรัสเซียจะไม่ยอมเป็นผู่้ที่ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวแน่ คำถามก็คือควาไม่แน่นอนนี้จะส่งผลกระทบยังไงต่อราคาสินค้าในสหรัฐอเมริกา?
ราคาสินค้าในสหรัฐอเมริกาอาจเลยจุดสูงสุดไปแล้ว?
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศที่แข็งแกร่ง ที่สวนทางกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเพราะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้นเนื่องจากดัชนี CPI ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยิ่งทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงัก
นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาในเดือนนี้หรือเดือนหน้าจะขึ้นสูงสุดที่ 8-9% เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่น น้ำมันและอาหารที่ยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากการคว่ำบาตรอย่างหนักต่อประเทศรัสเซีย นอกจากนี้ตลาดลงทุนจะให้ความสนใจไปที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อนหน้านี้หลายคนคาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 นี้อย่างแน่นอน
เจมส์ บลูราร์ด ประธานเฟดสาขาแห่งเซนต์หลุยส์กล่าวกับสื่อก่อนหน้านี้ว่าเขาหวังที่จะได้เห็นเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิสโดยเร็วที่สุด หากเฟดดำเนินการเช่นนั้นจริง จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2000 ที่การประชุมนโยบายการเงินได้ข้อสรุปเป็นขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิส อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิสก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ และเจมส์เองก็เป็นคนกล่าวเช่นนั้นออกมา
ขาขึ้นของราคาน้ำมัน
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาน้ำมันดิบและสินค้าเกษตร สหรัฐอเมริกาได้ประกาศห้ามนำเข้าพลังงานในรัสเซีย ในขณะที่สหราชอาณาจักรได้เริ่มการยกเลิกการนำเข้าน้ำมันของรัสเซียแบบค่อยเป็นค่อยไปก่อนสิ้นปีนี้ มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบทะลุแนวต้านสำคัญที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ภายในวันเดียว
ณ วันที่ 10 มีนาคม น้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 106.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์มีราคาซื้อขายอยู่ที่ 109.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ของราคาขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ซึ่งตัวเลขทั้งสองถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มต้นขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ประกาศปล่อยปริมาณสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) จำนวน 50 ล้านบาร์เรล เพื่อลดราคาน้ำมัน และยังเดินหน้าผลักดันพลังงานสะอาด เพื่อควบคุมราคาพลังงานที่สูงขึ้น
อ้างอิง: Bloomberg
แม้ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้ก็ยังถือว่าสามารถควบคุมได้ เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่พึ่งพากำลังการบริโภคภายในประเทศ ที่ทำได้อย่างแข็งแกร่ง Peter McCrory นักเศรษฐศาสตร์ของ JPMorgan วิเคราะห์ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะคุกคามการเติบโตของ GDP ของสหรัฐฯ ถึงกระนั้น เขาก็เชื่อว่าการเติบโตของ GDP อเมริกาในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2021 นอกจากราคาน้ำมันแล้ว ราคาอาหารยังเป็นปัจจัยที่ตลาดลงทุนให้ความสำคัญอีกด้วย
ตามสถิติของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ในปี 2021 รัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีมากกว่าหนึ่งในสี่ของโลก ทั้งสองชาติครอบครองส่งออกข้าวโพดประมาณ 20% และ 80% ของการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศส่งผลให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้น สัญญาซื้อขายข้าวสาลีล่วงหน้าของคณะกรรมการการค้าแห่งชิคาโก (CBOT) ในช่วงหกวันทำการพุ่งสูงขึ้นติดต่อกัน มีราคาซื้อขายที่ $13.635 ต่อบุชเชล รายงานล่าสุดที่เผยแพร่โดยสมาคมผู้ค้าข้าวสาลีแห่งอเมริกา (American Wheat Association) แสดงให้เห็นว่าราคาข้าวสาลีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง: ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าข้าวสาลีแห่งอเมริกาในวันที่ 4 มีนาคม
แม้ว่าในช่วงสองปีล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ตั้งเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ เลิกสนใจเป้าหมายนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ สมมติว่าสถานการณ์ในรัสเซียและยูเครนยังคงทำให้ราคาน้ำมันให้สูงขึ้นจบถึงระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สถานการณ์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น คาดว่าดัชนี CPI น่าจะทะลุ 8% ได้ไม่ยาก นักลงทุนในตลาดบางคนคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจทะลุ 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ภายในปลายปีนี้ นักลงทุนบางคนถึงขั้นเดิมพันแล้วว่าราคาน้ำมันอาจจะพุ่งขึ้นถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เพราะอัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐพุ่งสูงขึ้น เฟดอาจเพิ่มความพยายามในการควบคุมเงินเฟ้อของปี 2022 ด้วยเหตุนี้ จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ในการออกนโยบายการเงินที่มีความตึงตัวมากขึ้น หรืออาจจะได้เห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า 0.25% แต่ความเสี่ยงของการประชุมครั้งนี้อยู่ตรงที่หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้่ยมากเกินไป ก็อาจจะเป็นการลดความต้องการของผู้บริโภคลง สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกา ดังนั้นหากจะกล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐและธนาคารกลางกำลังเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็คงจะไม่ผิดนัก