คืนนี้ ตลาดลงทุนกำลังรอการประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เบื้องต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2022 ของสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ออกมาอยู่ที่ 6.90% แต่สำหรับไตรมาสนี้ ตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์มีความเห็นตรงกันที่ 1.00% หดตัวลดลงเป็นอย่างมากจนน่าตกใจ
จากผลสำรวจคาดการณ์ที่จัดทำโดย Refinitiv อัตราการเติบโต GDP รายไตรมาสของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้อาจออกมาอยู่ที่ 1% ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากแบบจำลอง GDPNow ของธนาคารกลางแห่งแอตแลนต้าคาดว่า GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2022 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.3% อะไรคือสาเหตุของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่หดตัวลดลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ และอนาคตของเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นอย่างไร?
เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อเนื่อง
จากภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบัน นักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 1 จะหดตัวลดลงอย่างมาก สาเหตุหลักของความเชื่อนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ที่พบว่าสินค้าคงคลังในบริษัทสหรัฐฯ นั้นหมดลงอย่างรวดเร็วจนไม่เพียงพอต่อความต้องการสินค้าที่กลับมาเกือบจะเป็นปกติแล้ว สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการสินค้ากลับมาอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
ผลกระทบของสินค้าคงคลังที่ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 1 ประกอบกับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นปีนี้ ถือเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรคโควิด สหรัฐฯ ได้นำมาตรการคุมเข้มทางสังคมบางประการกลับมาใช้ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางภาคส่วนต้องชะลอตัวลง
แม้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมจะสูงขึ้นเกินคาด แต่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไปกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาทั้งหลายทั้งหมดเหล่านี้นำไปสู่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แม้จะมีการใช้จ่ายด้านบริการที่สูงขึ้น แต่ปัจจัยเชิงบวกนั้นกลับไปถูกหักล้างด้วยการบริโภคสินค้าอื่นๆ ที่หดตัวลดลง ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
(อ้างอิง: TRADINGECONOMICS)
ในไตรมาสแรกของปี 2022 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ตัวเลข CPI เพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 8.5% ซึ่งเป็นระดับเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี นี่คือสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การคาดการณ์ GDP ของ Q1 ว่าจะหดตัวอย่างมาก และยังสะท้อนถึงการเติบโตที่โดนฉุดรั้งจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงปรับตัวสูงขึ้น
นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังขึ้นไม่ถึงจุดสูงสุด จากผลการสำรวจล่าสุดของสมาคมนักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจอเมริกา สัดส่วนของบริษัทในสหรัฐฯ ที่ได้ขึ้นค่าแรงในไตรมาสแรกพุ่งสูงถึง 70% เยอะที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้บริษัทต่างๆ จะส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคในอนาคต ผลักดันราคาสินค้ายิ่งปรับตัวสูงขึ้นต่อ
สำหรับราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2022 เพราะความกังวลของตลาดเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำมัน เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจได้เห็นราคาน้ำมันทะลุ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งหากเป้นเช่นนั้นจริงจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบสำรองของรัฐบาลสหรัฐฯ และการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันโดยสหรัฐฯ และกลุ่มโอเปกเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ราคาน้ำมันยังพอที่จะปรับตัวลดลงได้บ้าง นอกจากนี้ เมื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นในอนาคต ความต้องการน้ำมันดิบที่ลดลงอาจทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวปรับฐานต่อไป และหากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลง ก็จะช่วยบรรเทาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงไปได้พอสมควร สิ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษคือมาตรการคว่ำบาตร ที่ยุโรปตะวันตกบังคับใช้กับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย การตัดขาดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียอย่างจริงจังของยุโรปจะทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอีกครั้ง
ภาพรวมเศรษฐกิจอเมริกาจะเป็นเช่นไรต่อไป?
ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของสหรัฐในปี 2022 ลงอีกครั้ง ดังนั้นตลาดลงทุนจึงคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวลดลงอย่างมากในไตรมาสแรก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs นาย Jan Hatzius ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงของสหรัฐฯ สำหรับปี 2022 จาก 2.0% เป็น 1.75% และประเมินโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีกสองปีข้างหน้าที่ 35% ไม่ได้มีเพียง Goldman Sachs เท่านั้นที่มีความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจอเมริกาเป็นลบ แต่ธนาคารและนักลงทุนอื่น ๆ อีกหลายแห่งก็ได้ออกมาเตือนว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของธนาคารกลางฯ อาจทำให้เกิดภาวะถดถอย Fannie Mae ผู้ให้กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะ “ถดถอยเล็กน้อย” ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 แต่ก็มีบางคนเชื่อว่าภาวะถดถอยจะไม่เกิดขึ้น โดยให้เหตุผลอุปสงค์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและสามารถปรับตัวได้ตาม นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องเผชิญกับปัญหามากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 การแก้ไขเศรษฐกิจอย่างนุ่มนวลที่เฟดตั้งใจไว้นับวันยิ่งทำได้ยากขึ้น บททดสอบมากมายกำลังรอเศรษฐกิจอเมริกาอยู่ ยกตัวอย่างเช่นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนหนี้ต่างๆ เงินเฟ้อที่ค่อยๆ กัดเซาะความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำ ความตึงเครียดทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันราคาขึ้น ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ไปพร้อมๆ กับการลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ พวกเขายังต้องรักษาอัตราการจ้างงานให้มีเสถียรภาพ และทำให้เศรษฐกิจห่างไกล จากความเสี่ยงจากภาวะถดถอย